วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ไทยเจ้าภาพประชุมร่วม 3 ประเทศหาทางออกแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ


ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสภาความร่วมมือยาง 3 ประเทศ มุ่งหารือ-วางมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายางพารา และสร้างความเข้มแข็งกลุ่มประเทศผู้ผลิตหลัก พร้อมหาแนวร่วมบูรณาการการทำงานแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ไทยเสนอนำยางพารามาทำถนนแทนการใช้ยางแอสฟัลติกส์
            เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 12 ธ.ค.55 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมรัฐมนตรีสภาไตรภาคียางพารา (International Tripartite Rubber Council: ITRC) ของบริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ (IRCo) โดยมีนาย GITA WIRJAWAN รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า ประเทศอินโดนีเซีย นาย TAN SRI BERNARD DOMPOK รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพืชอุตสาหกรรมและสินค้าโภคภัณฑ์ ประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนจากประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม ร่วมสังเกตการณ์
      
       
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อหารือและติดตามมาตรการการรักษาเสถียรภาพยางของประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย รวมถึงบูรณาการการทำงานของทั้ง 3 ประเทศ ในการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ นอกจากนั้น ยังมุ่งแสวงหาความร่วมมือ และติดตามสถานการณ์ราคายางพารา รวมทั้งติดตามผลการดำเนินงานต่างๆ พร้อมพิจารณาแผนการดำเนินงานร่วมกันในอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 2555-2564) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสภาไตรภาคียางพารา และบริษัทร่วมทุนยางฯ ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติของอาเซียน เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และเพิ่มปริมาณการใช้ยางธรรมชาติในระดับภูมิภาคด้วย
      
       
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุม นายยุทธพงศ์ กล่าวกับสื่อมวลชนถึงผลการประชุมในครั้งนี้ว่า การประชุมในครั้งนี้ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า กรณีที่มีการควบคุมโควตาการส่งออกยางพาราเป็นผลทำให้ราคายางพาราอยู่ได้ในระดับ ราคา 3 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม เพราะไม่เช่นนั้นราคาจะตกต่ำมากกว่านี้ นอกจากนี้ ยังได้ข้อสรุปร่วมด้วยกันว่าเมื่อทั้งสามประเทศกลับไปแล้วจะไปดำเนินการในเรื่องของการปลูกต้นยางพาราใหม่ทดแทนต้นยางพาราที่มีอยู่เดิม เพื่อเป็นการลดปริมาณซัปพลาย โดยแต่ละประเทศจะไปทำการศึกษาข้อมูลของปริมาณตัวเลขการโค่นต้นยางพาราเก่า และปลูกใหม่ จากนั้นก็จะได้มาหารือร่วมกันอีกครั้ง
                นอกจากนั้น มาตรการในการแก้ไขปัญหาราคายางพารายังได้กำหนดให้มีการใช้ยางพาราภายในประเทศให้มากขึ้น โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น ได้นำเสนอว่าควรจะมีการนำยางพารามาใช้ในการทำถนนแทนการใช้ยางแอสฟัลติกส์ ซึ่งขณะนี้กรมทางหลวงของประเทศไทยได้มีการศึกษาเรื่องนี้แล้ว และพบว่ามีความเป็นไปได้มาก จึงได้มีการตกลงร่วมกันว่าจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ขณะเดียวกัน ทางประเทศมาเลเซียก็ได้เสนอว่าให้มีการนำไปใช้งานด้านอื่นๆ ด้วย เช่นเดียวกับประเทศอินโดนีเซียที่เห็นด้วยกับการนำยางพาราไปใช้งานทางด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสีเขียว ลดปัญหาโลกร้อนได้ด้วย
      
       
นายยุทธพงศ์ ยังได้กล่าวต่อไปถึงการหารือกรอบแนวทางการดำเนินงานร่วมกันในช่วง 10 ข้างหน้า ว่า ได้มอบหมายให้ ITRC และบริษัทร่วมทุนยางฯ ไปศึกษาว่า ต้องการให้ยางพารามีระดับราคาเท่าใด และต้องใช้เม็ดเงินมากน้อยเพียงใดในการพยุงราคา รวมถึงการใช้ทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ เช่น การควบคุมปริมาณการส่งออก เป็นต้น และให้นำผลการศึกษามารายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งถัดไป ซึ่งประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพในวันที่ 12 ธันวาคม 2556 ขณะเดียวกัน ได้มีมอบหมายให้ทำการศึกษาเรื่องการจัดตั้งตลาดกลางยางพาราร่วม กันของ 3 ประเทศ
      
       
ส่วนเรื่องการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราของไทย นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงเกษตรนั้น ตั้งแต่ตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยขณะนั้นราคายางพาราอยู่ที่กิโลกรัมละ 75 บาท แต่ปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ 81-82 บาท จึงมองว่าแนวทางที่ดำเนินการในโครงการเสริมสร้างและรักษาเสถียรภาพราคาเดินมาถูกทางแล้ว และเชื่อว่าแนวโน้มราคายางพาราจะปรับขึ้น ส่วนราคาที่เหมาะสมส่วนตัวในฐานะรัฐมนตรีคิดว่าราคาน่าจะอยู่ที่เลข 3 หลัก จึงได้นำแนวทาง และทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่มาใช้เพื่อให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น
                 แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกมีปัญหา เนื่องจากเราต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังผู้บริโภครายใหญ่ เช่น จีน ญี่ปุ่น อียู เป็นต้น และประเทศเหล่านี้ก็มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งหวังว่าหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกา และจีนมีผู้บริหารชุดใหม่แล้ว แนวโน้มการใช้ยางพาราก็น่าจะมีเพิ่มมากขึ้น และจะส่งผลให้ราคาเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ได้มีการเชิญประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีการปลูกยางพารา มาร่วมสังเกตการณ์ประชุมด้วย คือ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม พร้อมกันนี้ ยังจะได้มีการประชุมหารือนอกรอบร่วมกันกับผู้แทนของทั้งสามประเทศด้วย เพื่อรับทราบแนวทางของการที่จะมาเข้าร่วมการเป็นสมาชิกสภาไตรภาคี และวัตถุประสงค์ของการเข้ามาร่วม
      
       
ด้านนายดำรง จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดประชุมสภาไตรภาคียางพาราในครั้งนี้มีประเด็นสำคัญในการร่วมมือหลายประเด็น เช่น มาตรการรักษาเสถียรภาพราคายาง การจัดตั้งตลาดภูมิภาคของ 3 ประเทศ การขยายความร่วมมือกับประเทศผู้ใช้ยาง และผู้ประกอบการยางล้อให้ใช้ยางธรรมชาติในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น การหาแนวทางจัดตั้งตลาดยางพาราของภูมิภาคอาเซียน และการจัดตั้งกองทุนยางพาราในแต่ละประเทศสมาชิก อีกทั้งยังมีการหารือประเด็นการขยายอุปสงค์ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย
      
       “
การประชุมรัฐมนตรีสภาไตรภาคียางพาราจะช่วยกระชับและเสริมสร้างความร่วมมือด้าน ยางพาราของมาเลเซีย และไทยให้แน่นแฟ้นมากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังคาดว่าผลการประชุมเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกร และผู้ประกอบการของทั้ง 3 ประเทศ ทั้งยังช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ภาคอุตสาหกรรมการตลาด และเกษตร เพื่อพัฒนาความยั่งยืนของการประกอบอาชีพยางพาราแก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งระบบ ซึ่งจะกระตุ้นให้ราคายางอยู่ในระดับที่เหมาะสม และทำให้ราคายางมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: