วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

กรมทางหลวงทุ่ม 9 ล้านบาท ศึกษาออกแบบทางแยกต่างระดับห้าแยกฉลอง



กรมทางหลวง ทุ่มงบประมาณ 9 ล้านบาท จ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาสำรวจออกแบบทางแยกต่างระดับ ห้าแยกฉลองแก้ปัญหารถติด ใช้เวลา 360 วัน ดำเนินการ ทั้งศึกษา ออกแบบ รับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย วอนประชาชนร่วมเสนอแนะแนวทาง

วันที่ 10 ก.ย.56 ที่ห้องประชุมสำนักงานแขวงการทางภูเก็ต นายสมัคร เลือดวงหัด ผู้อำนวยการแขวงการทางภูเก็ต เป็นประธานประชุมประสานงานย่อยหน่วยงานครั้งที่ 1 โครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 4021 ทับทางหลวง 4024 ทับถนน 4028 และทับถนนเทศบาลฉลอง หรือบริเวณห้าแยกฉลอง ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยมี นายสานนท์ วงรค์สุรัติ ผู้ช่วยผู้จัดการสำรวจออกแบบทางแยกต่างระดับบริเวณห้าแยกฉลอง นายประเจียด อักษรธรรมกุล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนเข้าร่วม
      
       นายสมัคร เลือดวงหัด ผู้อำนวยการแขวงการทางภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันการสัญจรบริเวณห้าแยกฉลอง มีความแออัด และมีปัญหาเรื่องของการจราจรเป็นอย่างมาก ทางกรมทางหลวง จึงได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 9 ล้านบาท ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจัดทำโครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 4021 ทับ 4024 ทับ 4028 ทับถนนเทศบาล (ห้าแยกฉลอง) โดยมีการลงนามสัญญาว่าจ้างเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2556 และเริ่มปฏิบัติงานวันที่ 17 สิงหาคม 2556 สิ้นสุดสัญญาว่าจ้างวันที่ 12 สิงหาคม 2557 รวมระยะเวลาในการดำเนินการ 360 วัน เชื่อว่าถ้าการสำหรับออกแบบดำเนินการแล้วเสร็จทางกรมทางหลวงน่าจะบรรจุโครงการดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่ดังกล่าว จึงอยากฝากให้ประชาชนในพื้นที่ให้ความสนใจ และความร่วมมือในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น
      
       ขณะที่ นายสานนท์ วงรค์สุรัติ ผู้ช่วยผู้จัดการสำรวจออกแบบ ทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 4021 ทับ 4024 ทับ 4028 ทับถนนเทศบาล (ห้าแยกฉลอง) กล่าวว่า ในการดำเนินโครงการนั้น มีบริษัทที่ร่วมกันทำงาน 3 บริษัทด้วยกัน ประกอบด้วย บริษัทนูแมพ จำกัด บริษัทเอพซิลอน จำกัด และบริษัทเอเชีย แค็ป แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด โดยเริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค.56-วันที่ 12 ส.ค.57 ซึ่งลักษณะโครงการจะประกอบไปด้วย การวิเคราะห์ปริมาณจราจรบริเวณทางแยกและโครงข่าย สำรวจออกแบบทางแยกต่างระดับเพื่ออำนวยความสะดวกด้านจราจรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งคำนึกถึงความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ลดผลกระทบต่อชุมชนสิ่งแวดล้อม และวิธีการก่อสร้าง และนำเสนอรูปแบบ Stage Construction สำหรับรองรับปริมาณจราจรในอนาคต
      
       สำหรับการดำเนินการในขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการสำรวจปริมาณรถบริเวณห้าแยกฉลองเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการศึกษาออกแบบการแก้ไขปัญหาจราจร ซึ่งจากการสำรวจมาระยะหนึ่งพบว่าการใช้ถนนในบริเวณดังกล่าวพบมีปริมาณรถจำนวนมาก ในเส้นทางราไวย์มุ่งหน้าไปทางวัดฉลอง และจากถนนเจ้าฟ้าตะวันออก จากตัวเมืองมุ่งหน้าไปทางราไวย์ หลังจากนั้นจะต้องมีการศึกษาเรื่องของผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการออกแบบโครงการซึ่งการออกแบบนั้นจะมีการนำเสนอรูปแบบในการดำเนินการ 7 รูปแบบ แต่จะมีการคัดเลือกให้เหลือ 3 รูปแบบเพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
      
       สำหรับรูปแบบทางเลือกเบื้องต้นของโครงการ ประกอบด้วย แนวทางเลือกที่ 1 เส้นทางจากถนนวิเศษ จากฝั่งราไวย์มุ่งหน้าไปทางถนนเจ้าฟ้าตะวันตกมุ่งหน้าไปทางวัดฉลอง ซึ่งแนวทางนี้จะสร้างเป็นทางลอด แนวทางเลือกที่ 2 เส้นทางถนนเจ้าฟ้าตะวันออก ออกจากเมืองมุงหน้าไปทางราไวย์ โดยแนวทางนี้จะสร้างเป็นทางลอด แนวทางเลือกที่ 3 เป็นการนำทางเลือกที่ 1 และที่ 2 มารวมกัน ทำเป็น 2 เส้นทาง จากถนนเจ้าฟ้าตะวันตกมุ่งหน้าราไวย์ และจากถนนเจ้าฟ้าตะวันออกจากตัวเมืองมุ่งหน้าไปทางราไวย์ โดยบริเวณเส้นทางที่ไปราไวย์นั้นจะทำเป็นทางลอด 2 ช่องจราจร
      
       แนวทางเลือกที่ 4 ดำเนินการแบบแนวทางที่ 3 แต่เปลี่ยนจากทางลอด มาเป็นสะพาน แนวทางเลือกที่ 5 แบบเดียวกับแนวทางเลือกที่ 3 ที่ทำเป็นทางลอดซึ่งฝั่งไปทางราไวย์จะทำเป็นทางลอด 2 ช่องจราจร ซึ่งรถจะวิ่งไปในทางเดียวกัน แนวทางเลือกที่ 6 เป็นสะพานคู่ขนาน จากฝั่งราไวย์ไปทางวัดฉลอง 2 ช่องทางจราจร ซึ่งจะสร้างเป็นสะพานข้าม และแนวทางเลือกที่ 7 สร้างสะพานคู่ขนานจากฝั่งถนนเจ้าฟ้าตะวันออก ไปทางราไวย์เป็นถนน 2 ช่องจราจร
      
       อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางเลือกทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวทางเลือกเบื้องต้น ซึ่งจะมีการพิจารณาคัดเลือกให้เหลือเพียง 3 แนวทางเท่านั้น หลังจากได้ 3 แนวทางเลือกมาแล้วจะมีการจัดรับฟังความคิดเหตุของประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการดังกล่าว ซึ่งจะมีการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นจำนวน 3 ครั้ง และมีการประชุมกลุ่มย่อย จำนวน 3 ครั้ง เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการพัฒนาโครงการ และประชาชนที่สนใจได้รับรู้ข้อมูลคำชี้แจงและเหตุผลของพัฒนาโครงการอย่างถูกต้องชัดเจน รวมทั้งเข้าใจขั้นตอนการการศึกษา และลำดับความสำคัญของการมีส่วนร่วมในโครงการ รวมทั้งเพื่อให้องค์กรภาครัฐ เอกชน ประชาชนได้ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการโดยเฉพาะการมีส่วนร่วม

ข้อมูลจาก.. ASTV Manager ภาคใต้

ไม่มีความคิดเห็น: